กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ (Restorative Justice)
กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์คือ กระบวนการยุติธรรมที่มุ่งฟื้นฟูความสัมพันธ์ของมนุษย์ที่สูญเสียไปเพราะอาชญากรรมหรือการกระทำความผิด โดยให้ผู้เสียหายได้บอกเล่าถึงความรู้สึก และความเสียหายที่ได้รับ และได้รับการชดใช้/เยียวยาความเลียหายที่เกิดขึ้น ทั้งความเสียหายทางกายภาย จิตใจ อารมณ์ ฯลฯ ให้ผู้กระทำผิดได้แสดงความรับผิดชอบต่อการกระทำของตน โดยการชดใช้/เยียวยา ความเสียหายนั้นๆ ให้แก่ผู้เสียหายโดยตรง
ขั้นตอน
พนักงานคุมประพฤติที่ทำงานในกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์เรียกว่า “ คนกลาง (mediator) คนที่ทำหน้าที่คนกลางต้องได้รับการฝึกฝนมาโดยเฉพาะ ต้องมีความรู้ ความเข้าใจ และความตระหนักรู้ในกระบวนทัศน์ของความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ ต้องมีทักษะเฉพาะทาง โดยมีหลักการและขั้นตอนการทำงานดังนี้
ขั้นตอนที่ 1 กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ คือ กระบวนการยุติธรรมทางเลือกผู้ที่มีอำนาจที่จะเลือกใช้วิธีการนี้คือผู้เสียหายและผู้กระทำความผิด การที่คู่กรณีเข้าร่วมในกระบวนการ อาจโดยการเรียกร้องของผู้เสียหายและ/ หรือผู้กระทำผิดเอง หรือโดยการเชิญชวนของคนกลาง หรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง อย่างไรก็ตาม หลักการสำคัญคือ กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ต้องทำด้วยความสมัครใจของคู่กรณีเท่านั้น
หน้าที่ของคนกลางในขั้นตอนนี้ คือ การชี้แจงให้คู่กรณีทราบว่า กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์คืออะไร แต่ละฝ่ายมีบทบาทหน้าที่อย่างไร ต้องทำอะไร เมื่อทำได้แล้วจะได้อะไร จะเสียอะไร ส่วนการตัดสินใจว่าจะเข้าสู่กระบวนการนี้หรือไม่เป็นอำนาจการตัดสินใจของคู่กรณีเท่านั้น ประเด็นสำคัญประการหนึ่งคือกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ใช้ได้เมื่อคนที่จะเข้าสู่กระบวนการมีความคิดในทางบวก ไม่ต้องการโต้ตอบหรือแก้ปัญหาหรือแก้ไขความขัดแย้งโดยใช้ความรุนแรง แต่ต้องการหาทางแก้ไขความขัดแย้ง/แก้ปัญหา/ทางออกที่ดีที่สุดร่วมกัน
ขั้นตอนที่ 2 จากนั้น คนกลางจะทำการเตรียมความพร้อมของทั้งสองฝ่ายก่อนดำเนินการประชุมกลุ่ม โดย
- การให้คำปรึกษารายบุคคล ( individual counseling ) เพื่อเตรียมความพร้อมของผู้เสียหายทั้งด้านอารมณ์ ความต้องการที่แท้จริง และสภาพจิตใจ เตรียมความพร้อมของผู้กระทำความผิด เพื่อความพร้อมรับผิดชอบกับการกระทำของตน ตลอดจนสำรวจความต้องการของทั้งสองฝ่ายว่าต้องการให้ใครเข้ามาร่วมประชุมในฐานะเครือข่ายของตนบ้าง
- การแจ้งสิทธิและหน้าที่ของทุกฝ่าย สิทธิที่สำคัญคือทุกฝ่ายมีสิทธิที่จะยกเลิกกระบวนการนี้ได้ทุกเมื่อที่ต้องการ
- เตรียมการในการประชุมกลุ่ม โดยคนกลางเป็นผู้นัดหมาย สถานที่ วัน เวลา และเตรียมการเรื่องสถานที่ในการประชุม
ขั้นตอนที่ 3 ดำเนินการประชุมหรือเจรจาหาทางออกร่วมกัน โดยมีขั้นตอนดังนี้
- คนกลางกล่าวถึงวัตถุประสงค์ วิธีการ ขั้นตอน และกฎกติกามารยาทในการประชุมรวมทั้งเน้นย้ำว่า ข้อตกลงที่หากจะเกิดขึ้นย่อมไม่ผูกพันกับคำพิพากษาของศาล
- กระบวนการสำนึกผิด ขั้นตอนนี้กระทำโดยการให้ผู้เสียหายได้พูดหรือบอกกล่าวให้ผู้กระทำความผิดได้รับรู้ถึงความรู้สึกนึกคิด ความสูญเสีย ความเจ็บปวด และผลกระทบที่ตนได้รับจากการกระทำผิด การรับรู้เรื่องราวต่างๆจากผู้เสียหายโดยตรงจะทำให้ผู้กระทำผิดได้รับรู้ถึงผลร้ายจากการกระทำของตน การสำนึกผิดจะเกิดขึ้นได้ในขั้นตอนนี้
- กระบวนการแก้ปัญหาร่วมกัน/แก้ไขความขัดแย้งร่วมกัน ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะได้ร่วมปรึกษาหารือว่า จะแก้ไขผลร้ายที่ผู้เสียหายได้รับอย่างไร เป็นขั้นตอนที่ผู้กระทำผิดได้แสดงความรับผิดชอบต่อการกระทำผิดของเขา
- การทำข้อตกลงร่วมกัน โดยทั่วไปจะเป็นการทำข้อตกลงร่วมกันเป็นลายลักษณ์อักษรว่าแต่ละฝ่ายจะปฏิบัติต่อกันและกันอย่างไร ใช้เวลานานเท่าใด เป็นต้น ในขั้นตอนนี้ต้องระบุวิธีการติดตามผลด้วย ขั้นตอนนี้การะทำเพื่อให้เชื่อได้ว่าเหตุการณ์เช่นนี้จะไม่เกิดขึ้นอีกในอนาคต
ขั้นตอนที่ 4 การติดตามผล เพื่อดูว่าทั้งสองฝ่ายปฏิบัติตามข้อตกลงที่ทำไว้หรือไม่ หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือทั้งสองฝ่ายไม่ปฏิบัติตามข้อตกลง คนกลางสามารถจัดให้มีการประชุมกันอีกครั้ง ผลการประชุมนี้อาจมีการหาทางให้มีการปฏิบัติตามข้อตกลงเดิม หรือทำข้อตกลงใหม่ หรืออาจยกเลิกข้อตกลงทั้งหมดก็ได้ การปฏิบัติในขั้นตอนนี้คือ หากศาลพิพากษาให้ผู้กระทำผิดอยู่ในความดูแลของพนักงานคุมประพฤติ พนักงานคุมประพฤติก็สามารถดูแลให้ปฏิบัติตามข้อตกลงและติดตามผลดังกล่าวข้างต้นได้ กรณีเช่นนี้ผู้ถูกคุมประพฤติต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ศาลกำหนด และปฏิบัติตามข้อตกลงที่ตนเองได้ทำไว้กับผู้เสียหายอีกด้วย
เป้าหมายเบื้องต้นกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์มีเป้าหมายเบื้องต้นคือ การเชิดชูและพิทักษ์สิทธิของผู้เสียหาย ให้ผู้เสียหายมีโอกาสและอำนาจในการอำนวยความยุติธรรมตามความต้องการที่แท้จริงของตน ได้รับการเยียวยาและชดใช้ความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งทางด้านวัตถุ อารมณ์ จิตใจ และให้ผู้กระทำผิดสำนึกและแสดงความรับผิดชอบในการกระทำของตนต่อผู้เสียหายโดยตรง
เป้าหมายสูงสุด
กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์นั้นมีเป้าหมายสูงสุดคือ การให้อภัยกัน ( forgiveness ) แต่ไม่ได้หมายความว่าทุกกรณีต้องมีการให้อภัยกัน หรือการให้อภัยต้องเกิดขึ้นทันทีที่เสร็จสิ้นการประชุม แท้จริงแล้ว การให้อภัยจะเกิดขึ้นเมื่อมีการปฏิบัติตามข้อตกลงครบถ้วน การให้อภัยเป็นกระบวนการที่เปลี่ยนความสัมพันธ์ที่ถูกทำลายไป เพราะการทำให้อีกฝ่ายหนึ่งเสียหาย เจ็บปวด การละเมิด หรือการใช้ความรุนแรงต่อกัน ให้กลับคืนดีกันมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
ความรัก/ความปรารถนาดีต่อเพื่อนมนุษย์ เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้มนุษย์สามารถให้อภัยคนอื่นได้ อย่างไรก็ตามการให้อภัยก็ต้องผ่านกระบวนการของการสำนึกผิดของอีกฝ่ายหนึ่ง มีการทำข้อตกลงร่วมกันเสมือนเป็นคำมั่นสัญญาว่าจะไม่ทำผิดเช่นนี้อีกในอนาคต เมื่อฝ่ายที่กระทำผิดกระทำการตามข้อตกลง เป็นการแสดงให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจนแล้ว ความไว้วางใจหรือความเชื่อใจกันและกันก็จะเกิดขึ้นจากการนั้น การให้อภัยก็สามารถเกิดขึ้นได้
ภูริชญา กันทะเนตร
This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.